บริษัท ไฟฟ้าไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด – Thai Electric Corporation Limited (2482-2492)


ปี พ.ศ. 2440 หลวงพินิจจักรภัณฑ์ (นายแฉล้ม) ร่วมกับ นายเลียว นาดี ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของเจ้าหมื่นไวยวรนารถ ได้ก่อตั้ง “บริษัท บางกอก อิเล็กตริกไลท์ ซินดิเคท (The Bangkok Electric Light Syndicate)” ผลิตไฟฟ้าและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชน แต่เนื่องจากรายได้กับรายจ่ายไม่คุ้มกันจึงได้โอนกิจการให้กับ นายเวสเตน โฮลซ์ ชาวเดนมาร์ก จาก “บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด (The Siam Electricity Co.,Ltd.)” รับไปดำเนินการต่อ ทั้งนี้ก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2431 รัฐบาลได้ให้สัมปทานการเดินรถรางกับชาวเดนมาร์กในกรุงเทพฯ ซึ่งรถรางในเวลานั้นยังต้องใช้ม้าลากเนื่องจากยังไม่มีไฟฟ้าใช้ หลังจากนั้นเพียง 6 ปีคือ ปี พ.ศ. 2437 การเดินรถรางจึงเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแทน
บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด (The Siam Electricity Co., Ltd.) ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2441 โดยจดทะเบียนที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก มี นายอ๊อก เวสเตน โฮลซ์ (Mr. Aage Westenholz) เป็นผู้ดำเนินการ นับเป็นชาวต่างประเทศรุ่นบุกเบิกเกี่ยวกับไฟฟ้าในเมืองหลวงของประเทศสยาม ซึ่งสถานที่ทำการของบริษัทฯและโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินของวัดราชบูรณะราชวรวิหาร (วัดเลียบ) จึงได้รับการเรียกขานกันว่า “ โรงไฟฟ้าวัดเลียบ ” เป็น โรงไฟฟ้าชนิดพลังไอน้ำ (พลังความร้อน) ใช้ไม้ฟืน ถ่านหิน น้ำมัน และแกลบเป็นเชื้อเพลิง การดำเนินกิจการของบริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด มีความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับและในปี พ.ศ. 2451 ได้มีการรวมกิจการของ บริษัท รถรางบางกอก จำกัด มาไว้ด้วยกัน

สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุโรป เมื่อปี พ.ศ. 2482 และในปีเดียวกันซึ่งตรงกับ รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 “ ประเทศสยาม ” ได้มีการ เปลี่ยนชื่อเป็น “ ประเทศไทย ” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2482 รวมทั้ง “บริษัท ไฟฟ้าสยาม จำกัด ” ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ไฟฟ้าไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ” (Thai Electric Corporation Limited) เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2482 ด้วยเช่นกัน โดยได้ดำเนินกิจการด้วยดีมาตลอดจน หมดสัมปทาน เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2492 ช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามได้ลุกลามมายังประเทศไทย และเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2488 โรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสน ได้ถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทิ้งระเบิดจนเสียหายใช้การไม่ได้ ทำให้พระนครและธนบุรีตกอยู่ในความมืดมิด ประชาชนไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ ต่อมา บริษัท ไฟฟ้าไทย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้จัดการซ่อมโรงไฟฟ้าวัดเลียบ ที่ได้รับความเสียหายไม่มากนักให้ใช้การได้ โดยใช้เวลาเพียง 2 เดือนเศษ สำหรับโรงไฟฟ้าสามเสน ถูกระเบิดทำลายเสียหายยับเยิน การดำเนินการซ่อมโรงไฟฟ้าสามเสนต้องใช้เวลาถึง 4 ปี จึง สามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าได้เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2492 สำหรับในต่างจังหวัด กองไฟฟ้า กรมโยธาเทศบาล ได้ทำการซ่อมแซมโรงไฟฟ้าที่ ได้รับความเสียหายจากการถูกระเบิดระหว่างสงคราม และบูรณะโรงไฟฟ้าของเทศบาลต่างๆ
ส่วนการจ่ายไฟฟ้าในภาคเอกชนและภาคประชาชนครั้งแรก ดำเนินการโดยองค์กรที่ดำเนินกิจการไฟฟ้า 2 แห่ง ได้แก่ การไฟฟ้ากรุงเทพ และ กองไฟฟ้าหลวงสามเสน ซึ่งต่อมาทั้งสองแห่งได้ควบรวมกิจการเป็น การไฟฟ้านครหลวง




ขอขอบคุณแหล่งข้อมูล: การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
You must be logged in to post a comment.